จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้าวไทยเดี้ยงเสียตำแหน่งผู้นำตลาด อินเดีย-เวียดนามแย่งลูกค้า แค่ครึ่งปียอดหายกว่า 45%

       น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าช่วง 6 เดือนแรกปี 2555 ไทยส่งออกข้าวรวม 3.45 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกลดลงทุกตลาดรวมกัน 45% เมื่อเทียบกับปีก่อนเพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน ส่วนมูลค่าส่งออกรวม 71,438 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีมูลค่ารวมกว่า 107,644 ล้านบาท คิดเป็น 34% หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 35% สำหรับตลาดส่งออกสำคัญคือ แอฟริกาใต้ 55% รองลงมาคือ อาเซียน 14% และตะวันออกกลาง 12%
       ส่วนสถานการณ์ตลาดข้าวโลก ผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 รายจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า อินเดียส่งออกมากกว่าไทยเล็กน้อยโดยส่งออกได้ 3.61 ล้านตัน และเวียดนามส่งออกข้าวได้ 3.52 ล้านตัน แนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 3.05 ล้านตัน มูลค่ารวมประมาณ 50,000 ล้านบาท รวมแล้วตลอดปี 2555 ไทยจะส่งออกข้าวได้รวม 6.5 ล้านตัน ปริมาณส่งออกลดลง 39% มูลค่ารวม 120,000 ล้านบาท จากที่ปี 2554 ส่งออกข้าวรวม 10.65 ล้านตัน ไทยจึงกลายเป็นผู้ส่งออกตกลงมาเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม ที่คาดว่าจะส่งออกได้มากถึง 8 และ?7 ล้านตัน ตามลำดับ ส่วนปี 2556 คาดว่า ไทยจะส่งออกข้าวได้รวม 8 ล้านตัน
       ปัจจัยลบต่อตลาดส่งออกข้าวไทย ได้แก่ สต๊อกข้าวของอินเดียมีมากเพียงพอต่อการส่งออกได้ทั้งปี ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลง ความต้องการข้าวจากอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ลดลงทำให้เวียดนามหันมาชิงตลาดข้าว โดยลดราคาเพื่อแข่งขันกับอินเดียฉุดให้ราคาตลาดโลกต่ำลงโดยเฉพาะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาราคาต่ำกว่าอินเดีย
       “วันนี้ไม่สำคัญว่า ไทยจะเป็นผู้ส่งออกเบอร์หนึ่งหรือไม่ ที่ห่วงคือ อุตสาหกรรมข้าวจะล่มสลายถึงกับหายนะหรือไม่ รัฐบาลควรจะมาหารือกับผู้ส่งออก และนำข้อเท็จจริงมาคุยกัน จะมาคาดหวังว่าเดี๋ยวสถานการณ์จะดีขึ้น เพราจะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ได้ เพราะเอกชนไม่สามารถวางแผนการขายข้าวได้ หากผู้ส่งออกมีปัญหาส่งออกได้ลดลง อนาคตจะต้องลุกลามไปยังโรงสีข้าวและชาวนา”
       นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในส่วนของข้าวในสต๊อกของรัฐบาลซึ่งมีประมาณ 10 ล้านตัน หากจะระบายออกสู่ตลาดโลก ราคาขายจำเป็นต้องลดลงอยู่ในระดับที่แข่งขันกับเวียดนามได้ที่ตันละ 430-450 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากที่ต้นทุนอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลให้รัฐบาลมีผลขาดทุนตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้รัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก เพื่อดึงราคาข้าวสารทั้งในประเทศและส่งออกให้สูงขึ้น แต่ขณะนี้ราคาภายในประเทศก็ยังไม่ได้สูงขึ้นตามต้องการเพราะไม่มีแรงหนุนซื้อในตลาด เนื่องจากการส่งออกที่ลดลง
       นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลโครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ภาครัฐขาดทุนนั้นอยากให้มองในแง่ของการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้อย่าไปโฟกัสที่ตัวเลขส่งออกข้าวที่ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหายุโรปทำให้หลายประเทศลดปริมาณการสั่งซื้อแต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น


ที่มา:http://www.thairiceexporters.or.th/Local%20news/News_2012/news_260712-1.html

ไม่มีความคิดเห็น: