จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาหุ้น

         ผู้ลงทุนที่เพิ่งเริ่มรู้จักกับหุ้นอาจสงสัย และมีคำถามในใจว่า... “วันนี้หุ้นที่ถือไว้ ราคาจะเพิ่มขึ้นหรือจะลดลง”
“ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไร” หรือ “เราจะสามารถคาดการณ์หรือรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น
ได้หรือไม่”
        การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ ผู้ลงทุนต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้น หรือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น
ซึ่งแนวคิดที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนตอบคำถามดังกล่าวได้ และช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้น คือ
"การหามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหุ้นสามัญ"
       การหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเกิดจากความเชื่อที่ว่า... ผู้ลงทุนที่
ต้องการลงทุนในหุ้นวันนี้ ย่อมคาดหวังผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่
คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุนในหุ้นดังกล่าว ดังนั้น ราคาหุ้นที่
ผู้ลงทุนยอมจ่ายในวันนี้ จึงเป็นราคาสำหรับสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับในอนาคต นั่นเอง
       กล่าวคือ ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป น่าจะเกิดจากการที่ผู้ลงทุน
คาดการณ์ว่า สิ่งที่ตนจะได้รับในอนาคต ทั้งในรูปของ “เงินปันผล” และ “ส่วนต่างราคาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” เช่น ถ้ามีผู้คาดการณ์ว่า
การลงทุนในหุ้น ABC จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลมากขึ้น ก็จะทำให้บุคคลนั้นยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้น ABC ในราคาที่สูงขึ้น ราคาหุ้น ABC ก็จะปรับตัวสูงขึ้น
       ในทางกลับกัน ถ้าผู้ลงทุนคนหนึ่งคาดการณ์ว่าหากลงทุนในหุ้น ABC ณ ปัจจุบัน โดยถือไปอีก 2 – 3 เดือนแล้ว
ขายต่อ อาจจะได้ราคาขายต่อน้อยกว่าตอนที่ซื้อมา ผู้ลงทุนคนนั้นก็จะไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้น ABC ณ ราคาปัจจุบัน
แต่จะยอมจ่ายในราคาที่ต่ำกว่า เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่คาดว่าตนอาจจะเผชิญในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้น ABC ก็จะปรับตัวลดลง
       สรุปง่ายๆ ก็คือ... ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันจะถูกกำหนดมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ

1. ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งในรูปของเงินปันผลและส่วนต่างราคา
2. ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะต้องเผชิญจากการลงทุนในหุ้น
โดยผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับและความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะต้องเผชิญจากการลงทุนในหุ้นเป็นตัวกำหนดมูลค่าที่
แท้จริงของหุ้น และมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นจะส่งผลต่อราคาตลาดของหุ้น

คำถามต่อมาคือ... “แล้วอะไรเป็นปัจจัยกำหนดระดับของ
        เงินปันผล ราคาหุ้นที่คาดว่าจะขายได้ และความเสี่ยงจากการลงทุน” คำตอบก็คือ แนวโน้มผลกำไรในอนาคตของบริษัท ซึ่งเกิดจาก
ผลการดำเนินงานของบริษัท รูปแบบธุรกิจของบริษัท การก่อหนี้ของบริษัท รวมทั้งแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรม ภาวะเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น

        ปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดราคาหุ้นเหล่านี้ ล้วนเป็น “พื้นฐาน” สำคัญที่สามารถนำมาจัดกลุ่มเป็น 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรม และผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น หากคุณต้องการวิเคราะห์ปัจจัยที่กำหนดราคาหุ้น ก็ต้องวิเคราะห์ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ซึ่งเราเรียกการวิเคราะห์หลักทรัพย์ตามแนวคิดนี้ว่า “การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน” (Fundamental Analysis)
        ภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี ราคาหุ้นมักจะเพิ่มขึ้น เพราะผู้ลงทุนมองว่าโอกาสที่บริษัทจะขาดทุนในช่วงนี้มีน้อย จึงกล้าที่จะลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในช่วงที่เศรษฐกิจดี ประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายและผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น
เมื่อบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะสามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้มากขึ้น
ตามไปด้วย
       ในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นก็มักจะลดลง เพราะผู้ลงทุนมีความกังวลใน
ผลประกอบการของบริษัท กล่าวคือ ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อของประชาชนลดลง
ยอดขายของบริษัทจะลดลง กำไรของบริษัทก็จะลดลงหรืออาจจะขาดทุน ท้ายที่สุดผู้ลงทุนก็จะไม่ได้รับการจัดสรรกำไรจากบริษัท เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ลงทุนรู้สึกถึงความเสี่ยงจากการลงทุน จึงมีการขายหุ้นออกมา เมื่อมีการขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ก็จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงในที่สุด
ภาวะอุตสาหกรรม ถ้าอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรม
       ในทางตรงกันข้าม ถ้าอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วงขาลง ราคาหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นก็จะมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ลงทุนกังวลถึงความเสี่ยงจึงขายหุ้นในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ออกมา
        ผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ เป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผลการ ดำเนินงานของบริษัทนั้นโดยตรง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ กลยุทธ์ของบริษัท และความสามารถของผู้บริหาร กล่าวคือ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไม่ดี หากผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถสูง ก็อาจจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทลดลงไม่มาก และราคาหุ้นก็จะปรับตัวลดลงไม่มาก


ที่มา:http://www.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=1808&Itemid=1551

ไม่มีความคิดเห็น: