จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปตท.จ่อยืดผ่อนผันเวลาสำรองน้ำมันเพิ่ม เล็งเสนอรัฐผ่อนกฎเกณฑ์

           ปตท.อาจยื่นขอผ่อนผันเวลาการดำเนินเพิ่มสำรองน้ำมันจาก 5% เป็น 6% หากสำรวจคลังน้ำมันในเครือฯ เหลือไม่พอใช้ เล็งขอเช่าคลังเอกชนอื่นและเช่าเรือเก็บน้ำมัน พร้อมเสนอรัฐผ่อนผันเกณฑ์การสำรองฯ ให้เป็นระยะ ชี้สำรองน้ำมันเพิ่มดันต้นทุนพุ่ง 12-14 สตางค์/ลิตร

          นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปต ท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความพร้อมของกลุ่ม ปตท.ในการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันตามกฎหมายจาก 5% เป็น 6% ของปริมาณการจำหน่ายว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการสำรวจว่ามีถังเก็บน้ำมันบริษัทในเครือฯ ที่ยังใช้ไม่เต็มที่ รวมทั้งหาเช่าถังเก็บน้ำมันของภาคเอกชนรายอื่น และคลังน้ำมันที่อู่ตะเภา หากไม่เพียงพอก็อาจจะต้องใช้วิธีเช่าเรือเก็บน้ำมัน ดังนั้น ปตท.อาจจะขอผ่อนผันขยายเวลาออกไปมากกว่า 90 วันหลังกรมธุรกิจพลังงานออกกฎหมายบังคับใช้ และอาจเสนอแนวคิดการเพิ่มปริมาณสำรองเป็นระยะ คือในช่วง 90 วันแรกให้เพิ่มปริมาณสำรอง 50% ของปริมาณที่จะเพิ่ม และช่วงเวลาถัดไปให้เพิ่มปริมาณสำรองให้ครบถ้วน
ขณะที่ทางเกาหลีได้เสนอให้ไทยใช้คลังน้ำมันขนาด 40 ล้านบาร์เรลด้วย

         ทั้งนี้ เนื่องจาก ปตท.เป็นผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาด 36-37% และเป็นผู้ถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ โรงกลั่นบางจากฯ โรงกลั่นของ บมจ.พีทีที โกลบอลฯ โรงกลั่นไออาร์พีซี รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่งด้วย จึงมีความจำเป็นต้องมีคลังเก็บน้ำมันเพิ่มขึ้น

         อย่างไรก็ตาม ในการสร้างคลังเก็บน้ำมันใหม่เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองตามกฎหมายนั้น จำเป็นต้องสร้างคลังน้ำมันใกล้โรงกลั่นเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งไม่ให้ซ้ำซ้อน ซึ่งปัจจุบันการเก็บสำรองน้ำมันตามกฎหมายก็มีต้นทุนด้านดอกเบี้ยเกิน 7 สตางค์/ลิตรอยู่แล้ว

         ดังนั้น การเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันตามกฎหมายจาก 5% เป็น 6% ของปริมาณการขาย หรือเป็นเพิ่มการสำรองน้ำมันเพื่อจำหน่ายจาก 36 วันเป็น 45 วัน ต้องสำรองน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 5.83 ล้านบาร์เรล ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 12-14 สตางค์/ลิตร หรือคิดเป็น 60-70 เซ็นต์/บาร์เรล ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้สุดท้ายต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคเพราะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประชาชน

         เมื่อต้นเดือน มิ.ย.นี้ กพช.มีมติเห็นชอบให้มีการสำรองน้ำมันยุทธศาสตร์ของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90 วัน ทั้งน้ำมันดิบและสำเร็จรูป โดยให้เอกชนสำรองเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 6% คิดเป็นปริมาณสำรอง 43 วัน ส่วนที่เหลือรัฐจะต้องลงทุนเองเพื่อสำรองให้ครบ 90 วัน ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่งและเชลล์เตรียมยื่นขอผ่อนผันระยะเวลาการสำรองน้ำมันตามกฎหมายออกไปมากกว่า 90 วันเนื่องจากต้องใช้เวลาในการจัดหาสถานที่เก็บน้ำมัน รวมทั้งมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นในการนำเงินไปซื้อน้ำมันมาสำรองเก็บไว้

         นายครุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา "Energy Forum on Oil Risk Managment" วันนี้ (23 ก.ค.) ว่า เกาหลีเป็นประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานสูงเหมือนไทย และให้ความสำคัญในการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงมีการพัฒนาการสำรองน้ำมันทั้งแบบบนบก ใต้ดิน และลอยในทะเล รวมมีการสำรองน้ำมัน 190 วันหรือคิดเป็น 140 ล้านบาร์เรล รวมทั้งการจัดองค์กรการสำรองน้ำมันฯ ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่อยู่ระหว่างการยกร่างกฎระเบียบและคัดเลือกเทคโนโลยีการสำรองน้ำมันฯ ให้เหมาะสม

         ที่ผ่านมา รัฐได้ศึกษารูปแบบและแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่จะเข้าดำเนินการเรื่องการสำรองน้ำมันของประเทศ แหล่งเงินที่ใช้ในการสำรองน้ำมัน ฯลฯ จึงไม่มั่นใจว่าจะเสร็จทันภายในปีนี้หรือไม่



ที่มา:http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000090413

ไม่มีความคิดเห็น: