จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โธมัส แชมเบอร์ คอนติเนนทอลฟันธง ไทยเหนือกว่าทุกประเทศ

         หลังเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย 5 ปีเศษ วันนี้ "โธมัส แชมเบอร์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นนำของโลกสัญชาติเยอรมัน บอกว่า วันนี้คอนติเนนทอลฯก้าวไปเกินคาด มีทั้งลูกค้าในกลุ่มส่งออก รวมทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย OEM ถึง 9 ค่ายรถยนต์ พร้อมตั้งเป้าว่าจะต้องเติบโตเหนือตลาดรวมทั้งประเทศไทยด้วย ภายใต้กลยุทธ์สร้าง "สมดุล"

 ผลประกอบการช่วงที่ผ่านมา

         ครึ่งปีแรกของทั้งกลุ่มเราโตกว่าปีก่อน ม.ค.-ก.ค. 1.6 หมื่นล้านยูโร จากปีก่อนที่ทำได้ 1.4 หมื่นล้านยูโร สาเหตุเติบโตสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่เกิดปัญหานั้น เนื่องจาก 3 สาเหตุหลัก คือ การเติบโตของตลาดเอเชียเข้าไปทดแทนตลาด รวมถึงการเลือกผลิตสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างกลุ่มชิ้นส่วน "อิเล็กทรอนิกส์" ระบบการสื่อสารภายในที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง และการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

         ส่วนผลประกอบการในปีที่ผ่านมาของตลาดเอเชียนั้น มีรายได้ที่ 5,000 ล้านยูโร ส่วนประเทศไทย อาเซียน และออสเตรเลียนั้น มีรายได้รวมกันที่ 841 ล้านยูโร

          ส่วนเป้าหมายปีนี้ทั้งกรุ๊ปจะทำได้ 3.3 หมื่นล้านยูโร โตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกคาดว่าจะมีสูงถึง 79 ล้านคัน ทั้งนี้รายได้ของบริษัทนั้นเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นฟื้นตัว

 กำลังผลิตและการลงทุน
         ปัจจุบันโรงงานผลิตที่ "อมตะซิตี้" ได้มีการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการจัดซื้อเครื่องจักรมูลค่า 400 ล้านบาท ปัจจุบันผลิตได้แค่ 47% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ดังนั้นเม็ดเงินที่ลงไปจะเพิ่มกำลังผลิตได้อีก 10% ภายในปี 2557 ขณะนี้ได้มีการเพิ่มพนักงานจาก 400 คนเป็น 500 คนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนสำนักงานขายนั้น บริษัทได้เพิ่มพนักงานอีก 30% เพื่อเพิ่มคุณภาพงานขาย รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมถึงการรองรับ AEC ในอนาคตด้วย

 กลยุทธ์หลักปีนี้
         แผนบริษัทแม่ 7 อย่างสู่ความยั่งยืน เราเอามาใช้ในเมืองไทยด้วย ความเป็นบริษัทระดับโลกเราได้กำหนดกลยุทธ์ "การสร้างความสมดุล" ใช้ในกลุ่มแล้วกลยุทธ์ดังกล่าว

         เริ่มต้นด้าน "การเจริญเติบโต" ของแต่ละภูมิภาค เดิมโตในอเมริกาและยุโรป แต่วันนี้ต้องมาสร้างความสมดุลในตลาดเอเชีย และจะต้องโตทุกตลาดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยและอาเซียนนั้นจะต้องมีความสมดุล

         "ด้านเทคโนโลยี" เดิมสนับสนุนเทคโนโลยี R&D ให้กลุ่มรถระดับพรีเมี่ยม วันนี้ต้องสร้างความสมดุลในกลุ่มอีโคคาร์ด้วย

         "ด้านยอดขาย" ด้วยการกระจายยอดขายในประเทศไทยไปยังลูกค้าหลากหลายยี่ห้อ "ด้านการเป็นผู้นำตลาด" วันนี้กลุ่มได้ขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 ของโลก ส่วนประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเราจะต้องก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 3 ให้ได้ โดยปัจจุบันในกลุ่มระบบส่งกำลังเราติด 1 ใน 3 แล้ว ส่วนด้านอื่น ๆ คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีก 5 ปีจากนี้จะต้องติด 1 ใน 3 ให้ได้

         "ด้านการเติบโตสูงสุด" ในตลาดนั้น ๆ ในอัตราที่สูงกว่าตลาดและมีกำไรสูงกว่าอัตราเฉลี่ย "ด้านประสิทธิภาพสูงสุด" รวมถึงการรักษาตำแหน่งสูงสุดในโลกด้านการผลิต และสุดท้ายคือ "ทีมงานที่ดีที่สุด"

 เตรียมรับมือ AEC
           เราเห็นโอกาสมหาศาลในการเคลื่อนไหวสินค้า เงินทุน โดยไทยต้องมีการทำงานอย่างโปร่งใสเพื่อรับตรงนี้ คอนติเนนทอลฯพร้อมเป็นฐานรองรับการเติบโต เนื่องจากมีโรงงานในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์แล้ว แต่ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่น่าสนใจต่อการลงทุนของกลุ่มในอนาคต ทั้งเรื่องการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ข้อกำหนดเกี่ยวกับยานยนต์ มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การให้ข้อมูล รวมถึงรถราคาประหยัด ประเทศไทยจะต้องทำให้ได้มาตรฐานโลก รัฐบาลควรปรับระบบภาษีโดยมองไปที่ผลมาตรฐานการปล่อยก๊าซ Co2 โดยไม่กำหนดเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี ระบบภาษีนั้นมีความสำคัญมาก และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและบริษัทชิ้นส่วนเองก็มีความสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ การเคลื่อนย้ายแรงงาน วิศวกร ไม่ได้ทำงานเฉพาะโรงงาน แต่ดูแลเรื่องการบริหาร อยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องบุคลากรที่จะป้อนเข้าอุตสาหกรรมยานยนต์

 ความน่าสนใจของอินโดนีเซีย
         สำหรับอินโดนีเซียกับไทยนั้น วันนี้ไทยมีความน่าสนใจกว่า ทั้งตลาด OEM, บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซัพพลายเออร์ต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลไทยที่มีเหนือกว่าอินโดนีเซีย

 โอกาสของประเทศไทยมีเหนือกว่า
         เป้าหมายที่รัฐกำหนดไว้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ-อีโคคาร์ มีการจ้างงานมากกว่า 500,000 คน สร้างรายได้คิดเป็น 10% ของ GDP อนาคตประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นฐานผลิตรถยนต์ "กรีนคาร์" หรือรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2563

         ซึ่งสถาบันยานยนต์ได้ตั้งเป้า 3 ด้าน คือ เทคโนโลยี, บุคลากรและเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทพร้อมตอบโจทย์ประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยต่าง ๆ เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งอีวีและไฮบริด ด้านบุคลากร มีการถ่ายทอดระบบการผลิตแบบใหม่ให้วิศวกรได้เรียนรู้ รวมทั้งส่งวิศวกรไปฝึกงานที่บริษัทแม่ รวมทั้งสนับสนุนภาครัฐเรื่องการพัฒนาบุคลากร และบริษัทพร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตอันดับ 10 ของโลก




ที่มา:http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1345441121&grpid=no&catid=no



ไม่มีความคิดเห็น: