จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมศาสตร์ไฟเขียว บัณฑิตชาย แต่งหญิงรับปริญญา

          ซ้อมใหญ่25รับจริง30ส.ค.มีใบรับรองแพทย์วินิจฉัยว่าจิตใจตรงข้ามกับเพศแท้อะลุ้มอล่วยให้เป็นรายๆไป
         นักศึกษาข้ามเพศรั้วโดม ขอแต่งหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้สำเร็จ หลังมุ่งมั่น วางแผนตั้งแต่เข้าเรียนปี 1 ว่าจะต้องแต่งกายเป็นบัณฑิตหญิงให้ได้ ในวันแห่งความสำเร็จในชีวิต เพราะทำใจไม่ได้ที่จะต้องตัดผมสั้นนุ่งกางเกงเข้ารับปริญญาอ้างเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างแสนสาหัส เพราะแม้กายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิงแบบกู่ไม่กลับแล้ว ขณะที่มหาวิทยาลัยชี้เหตุที่อะลุ้มอล่วยให้สาวประเภทสองแต่งหญิงรับปริญญาได้ เพราะปัจจุบันสังคมเปิดกว้างและเห็นใจนักศึกษากลุ่มนี้ ที่เหมือนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด แต่ต้องอยู่ในระเบียบที่กำหนดและความเหมาะสม

         หลังจากที่มีกลุ่มนักศึกษาข้ามเพศ ที่ขณะนี้สังคมเปิดกว้างยอมรับมากขึ้น เคยออกมาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแก้กฎระเบียบให้กลุ่มนักศึกษา ที่มีร่างกายเป็นชาย แต่จิตใจเป็นหญิงใส่ชุดผู้หญิงรับปริญญา เพราะรับไม่ได้ที่ต้องแต่งกายเป็นชาย ในวันรับปริญญาอ้างว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ทำร้ายจิตใจอย่างแสนสาหัสและทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจในความต้องการศึกษาต่อ ขณะที่มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วย ระบุว่าเป็นการไม่เหมาะสมในการเรียกชื่อนักศึกษา ก่อนที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เนื่องจากมีการขานชื่อเป็นนาย แต่แต่งกายเป็นหญิง แต่ปรากฏว่าในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จบการศึกษาในปี 2554 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 ส.ค. ได้มีกลุ่มนักศึกษาเพศที่สาม ขอแต่งกายเป็นหญิงในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ ได้จำนวนหลายคนด้วยกัน จนเป็นที่ฮือฮา

         โดยหนึ่งในจำนวนนักศึกษาข้ามเพศ ที่เตรียมตัวแต่งกายเป็นหญิงในวันรับปริญญา ประจำปีการศึกษา 2554 โดยได้มีการทำเรื่องขออนุญาตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับทางมหาวิทยาลัย คือ นายบารมี พานิช หรือน้องเด่นจันทร์ อายุ 23 ปี บัณฑิตจบใหม่จากคณะวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งหลังจากจบการศึกษา ได้เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทสยามซัมซุงประกันชีวิต ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบที่บริษัทซึ่งอยู่อาคารลิเบอร์ตี้สแควร์ ถนนสีลม กทม. เมื่อเย็นวันที่ 15 ส.ค. นายบารมีเผยว่า เป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม เบื้องหน้าเบื้องหลังของความต้องการอย่างสูงสุด ที่อยากจะแต่งกายเป็นผู้หญิงในวันรับปริญญาบัตร ที่ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชีวิต เป็นเพราะตนมีจิตใจเป็นหญิงมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ก็ยังมีจิตใจเป็นหญิงเหมือนเดิม ที่เพิ่มมากขึ้นคือเริ่มแต่งหน้าทาปากสร้างสีสันให้ใบหน้า ให้สมบูรณ์ เหมือนมีกายใจและเลือดเนื้อเป็นหญิงมาโดยกำเนิด จึงตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า หากสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะขอแต่งกายเป็นบัณฑิตหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

         น้องเด่นจันทร์เผยอีกว่า ต่อมาได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ และแต่งกายเป็นหญิงมาเรียนทุกวัน ตลอดเวลามีความคิดอยู่ในใจเสมอตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปี 1 ว่า ในวันที่รับปริญญาจะต้องนุ่งกระโปรงแต่งชุดบัณฑิตหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรให้ได้ เพราะตนทำใจไม่ได้ที่จะต้องตัดผมสั้นและแต่งกายเป็นชายเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เพราะมันขัดกับสภาพจิตใจอย่างรุนแรง จนรับไม่ได้ ที่ผ่านมารุ่นพี่ที่เป็นสาวประเภทสองบางคน ที่ไม่ได้แต่งชุดครุยหญิง ถึงกับสละสิทธิ์การเข้ารับปริญญาบัตร เพราะทุกคนมีความคิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก จึงยอมที่จะสละสิ่งที่สำคัญในชีวิตการศึกษาทิ้งไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

         หลังจากนั้น ตนได้วางแผนอย่างจริงจัง เพราะรู้ดีว่าการที่สาวประเภทสองแต่งกายเป็นหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นเรื่องที่ยากมากกับนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆมาเป็นตัวกำหนดได้ จึงใช้การรับรองทางการแพทย์ ในการวินิจฉัยว่า ใครควรจะแต่งชุดครุยหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ และแพทย์วิเคราะห์วินิจฉัย ว่า ตนเป็นบุคคลผู้มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ถือว่าเป็นผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัด เพราะบุคคลกลุ่มนี้ ถือเป็นผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทางจิตใจ คือ การบำบัดทางจิตใจ และการแต่งกายเป็นหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จึงเป็นการบำบัดชนิดหนึ่งด้วย

         นายบารมียังกล่าวอีกว่า แต่ใบรับรองแพทย์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เมื่อเรียนอยู่ชั้นปี 4 จึงได้ทำภาคนิพนธ์ เรื่องชายแต่งกายหญิงรับปริญญาบัตร เพื่อยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเอกสารประกอบขออนุญาตแต่งกายหญิงเข้ารับปริญญาบัตร จากนั้นมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือส่งไปยังสำนักพระราชวัง และมีการตอบกลับมาว่า ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อให้นักศึกษาชายที่มีจิตใจเป็นหญิงแต่งกายเป็นหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ กระทั่งมหาวิทยาลัยมีการประชุมระดับผู้บริหาร พิจารณาถึงความเหมาะสมเรื่องดังกล่าว และอนุญาตให้สาวประเภทสองแต่งกายเป็นหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ จำนวน 5 คน โดยอีก 4 คน เป็นเพื่อนคณะอื่น ซึ่งจะมีการซ้อมใหญ่ในวันที่ 25 ส.ค. ทั้งนี้ การขออนุญาตของสาวประเภทสองแต่งกายเป็นหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องทำหนังสือและพิจารณาเป็นรายบุคคล เมื่อตนได้รับอนุญาตให้แต่งกายเป็นหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรรู้สึกดีใจมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกับบุคคลรุ่นต่อไปแต่หากไม่ได้แต่งกายชุดครุยหญิง คงต้องสละสิทธิ์การรับปริญญาสูญเสียโอกาสที่ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เหมือนกับรุ่นพี่ที่ผ่านมาเช่นกัน

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ว่า สืบเนื่องจากมหา– วิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการร้องขอจากบัณฑิตจำนวนหนึ่ง ที่เป็นเพศทางเลือกหรือเพศที่สาม ยื่นเรื่องขออนุญาตแต่งกายเป็นหญิง ในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2554 ซึ่งกำหนดวันที่ 30 ส.ค. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยจึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง โดยเป็นการหารือภายใน เห็นว่าสังคมในปัจจุบันเปิดกว้างให้กับเพศทางเลือกมากขึ้น จึงเห็นควรให้มีการอะลุ้มอล่วยเฉพาะกรณีเป็นรายๆไป กับบุคคลที่มีสภาพทางจิตหรือสภาพทางกาย ที่ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป ที่สำคัญจะต้องมีใบรับรองทางการแพทย์รับรองผลการวินิจฉัยระบุชัดเจนว่า มีสภาพจิตใจกิริยาอาการ หรือสภาพร่างกายตรงข้ามกับเพศภาวะที่แท้จริงของตน ให้สามารถแต่งกายข้ามเพศที่แท้จริงได้ แต่ต้องอยู่ในระเบียบที่กำหนดว่าต้องเรียบร้อยและเหมาะสม

         นายอุดมกล่าวด้วยว่า เรื่องดังกล่าวถือปฏิบัติเป็นกรณีเฉพาะบุคคล และดำเนินการเป็นการภายใน จึงไม่ได้เป็นประกาศที่แจ้งให้ทราบโดยทั่วไป ทั้งนี้บางเรื่องเป็นการมิบังควรที่จะแจ้งประกาศ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรนอกจากเป็นเรื่องเกียรติยศส่วนบุคคลแล้ว ยังเป็นการถวายพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ดังนั้น การดำเนินการใดๆ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและระคายเบื้องพระยุคคลบาท มหาวิทยาลัยเข้าใจดีว่าหากมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ออกไป กลุ่มเพศทางเลือกก็คงพอใจ ขณะเดียวกันก็อาจจะมีบางคนที่มองเห็นต่างได้ ดังนั้น เราจึงถือปฏิบัติทางสายกลาง ไม่ใช่เป็นการอนุมัติประกาศที่ยึดถือปฏิบัติโดยทั่วไป เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งดำเนินการปีนี้เป็นปีแรก แต่ได้มีการพิจารณาในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2553 มาแล้ว ครั้งที่แล้วเข้าใจว่ามีผู้ยื่นเรื่องขออนุญาตเข้ามาประมาณ 6-7 ราย ส่วนปีนี้เท่าที่ทราบคร่าวๆ น่าจะประมาณ 1-2 ราย

         รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับขั้นตอนในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ก็เป็นไปตามกระบวนการตามปกติ ไม่ได้มีการแบ่งแยกการรับว่าเป็นกลุ่มเพศที่สาม ส่วนการขานชื่อคำนำหน้านามระหว่างพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังยึดคำนำหน้านามตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับทางคณะจะเป็นผู้พิจารณาขานชื่อ อาจจะไม่ขานคำนำหน้าก็ได้ นอกจากนี้กลุ่มที่ยื่นเรื่องเสนอขออนุญาตเข้ามามีแต่กลุ่มชายที่ขอแต่งกายเป็นหญิง แต่ยังไม่มีกลุ่มหญิงที่ขอแต่งกายเป็นชาย




ที่มา:http://www.thairath.co.th/content/newspaper/283898

ไม่มีความคิดเห็น: