จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทวายผนึกแหลมฉบัง...มิติแห่งการพึ่งพา

            ผลสรุปจากการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พิจารณาอย่างเป็นรูปธรรมนั่นก็คือ การผลักดันให้เกิดการลงนามความร่วมมือระหว่างผู้นำไทยและผู้นำสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง, ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในพม่า ครอบคลุม 4 สาขา คือ

1.การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรพม่า
2.การเตรียมความพร้อมในการเป็นประธานอาเซียนของพม่าในปี 2557
3.การปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเลือก
4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพม่า

         กรณีของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือ สองประเทศเห็นพ้องที่จะเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายฝั่งพม่า ด้าน จ.กาญจนบุรี เข้ากับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ของไทย เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

         ขั้นตอนจากนี้ไปคือ ผลักดันให้เกิดคณะทำงานขึ้นมาในระดับรัฐมนตรี ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนแผนการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจทวายของทั้งสองประเทศ เป็นเป้าหมายที่ฝ่ายพม่าคาดหวังถึงการพัฒนาในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่ไทยเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะขับเคลื่อนให้ไทยเข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในกิจกรรมด้านพาณิชย์นาวี โดยที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเป็นกลไกสำคัญ

         ขณะเดียวกันหากย้อนหลังไปในการเดินทางไปเยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2554 ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีของไทยนำเข้าหารือกับผู้นำพม่าคือ ขอให้สนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project) อันเป็นโครงการลงทุนของ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในฝั่งพม่า เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ภายใต้เงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 3 แสนล้านบาท

          กล่าวสำหรับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ที่กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเชื่อมต่อความร่วมมือกับท่าเรือทวาย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงพื้นที่ คือ ทวาย-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ชลบุรี (แหลมฉบัง) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีสถานะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยมีปริมาณสินค้าเข้าออกท่าเรือรวม 53.25 ล้านตัน ในปี 2553 ซึ่งสูงกว่าท่าเรืออื่นๆ ในประเทศ

         ในการศึกษาถึงศักยภาพพบว่า ปริมาณตู้สินค้าขาเข้าและขาออกผ่านท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต่อปี และจะสูงเกิน 10 ล้านทีอียูต่อปี ในปี 2559 ซึ่งเต็มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จึงเป็นที่มาของความต้องการ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 (เฟส 3) เพื่อให้รองรับต่อการขนส่งสินค้าทางทะเล อันจะทำให้ท่าเรือพาณิชย์ของไทย สามารถแข่งขันกับท่าเรืออื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียได้ โดยเป้าหมายขั้นปลายก็คือ การก้าวขึ้นเป็นท่าเรือระดับโลก (World-Class Port) สามารถที่จะดึงดูดสายการเดินเรือขนส่งสินค้าชั้นนำจากนานาชาติให้มาเทียบท่า

         แนวทางของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเฟส 3 ที่วางเอาไว้คือ พร้อมต่อการรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีระวางบรรทุกได้มากกว่า 1 แสนตัน หรือบรรทุกตู้สินค้าได้มากกว่า 1 หมื่นทีอียู ตัวท่าเรือมีร่องน้ำกว้างเพียงพอให้เรือกลับลำได้สะดวก สามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเน้นไปที่การขนส่งระบบราง เพื่อเอื้อต่อธุรกิจโลจิสติกส์

         เป้าหมายของกทท. หลังการก่อสร้างท่าเรือในเฟสที่ 3 แล้วเสร็จ จะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลเพื่อรับสัมปทานบริหารท่าเรือ โดยเอกชนที่ประมูลได้จะต้องดำเนินการก่อสร้างส่วนงานต่างๆ ภายในท่าเรือต่อจนครบถ้วน เพื่อให้ท่าเรือสามารถใช้งานได้ สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ขณะนี้มีการจัดจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียด โดยหากเป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 คาดว่าใช้งบลงทุนมากว่า 2 หมื่นล้านบาท

         “เราเฝ้ามองและศึกษาถึงโครงการนี้ ประเด็นที่ผู้บริหารท่าเรือและสายการเดินเรือต่างเห็นตรงกันก็คือ การที่ท่าเรือทวายของพม่าจะช่วงชิงให้สายการเดินเรือรายใหม่เข้าไปใช้บริการไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะท่าเรือแต่ละแห่งทั้งของไทยและมาเลเซียเอง ต่างก็มีลูกค้าที่เป็นสายการเดินเรือที่ชัดเจนอยู่แล้ว ทุกแห่งต่างมีการพัฒนาเพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ตัวเอง หรือรักษาโอกาสทางการแข่งขัน ทวายเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่การขับเคลื่อน เพื่อที่จะให้เกิดภาพที่ชัดเจน ยังขาดส่วนนี้ไป ทุกวันมีเพียงแต่ข่าวที่เกิดขึ้น ในเชิงของการสร้างความเชื่อมั่น แต่สิ่งที่จะเป็นรูปร่างที่ชัดเจนยังไม่มี” นาซีร์ บิน อิสมาแอล หัวหน้าฝ่ายการตลาดคอนเนอร์ ปีนังพอร์ท ผู้บริหารคลังสินค้าคอนเทนเนอร์ ท่าเรือปีนัง รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ให้ความเห็น

         อรรณพ กลิ่นทอง หัวหน้าสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี กล่าวว่า การที่ไทยและพม่าสามารถผลักดันกรอบความร่วมมือในการเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายเข้ากับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง น่าจะเป็นการสร้างมิติของการเชื่อมโยงในระบบเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ในเชิงภูมิศาสตร์ท่าเรือของไทยอยู่ฝั่งตะวันออก ในขณะที่ท่าเรือน้ำลึกทวายของประเทศพม่า อยู่ฝั่งตะวันตก ทำให้การขนส่งสินค้าโดยเรือ จากอินเดีย ตะวันออกกลาง เข้ามาที่ท่าเรือทวายก็จะมีความสะดวก ขณะที่สินค้าที่ผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทยที่จะไปทางฝั่งตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน และในกลุ่มประเทศฝั่งตะวันออก จะใช้บริการของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง
“เมื่อมีท่าเรือน้ำลึกทวาย สินค้าจากฝั่งตะวันตก จะมาที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย จากนั้นจะส่งมาที่กาญจนบุรี กรุงเทพฯ และมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมระยะทาง 400 กิโลเมตร ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือประหยัดเวลา ภาคบริการในโลจิสติกส์จะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงโครงข่ายที่เกิดขึ้น” อรรณพ กล่าว

         การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือระหว่างพม่ากับไทยครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างโอกาสในกิจกรรมด้านพาณิชย์นาวีของทั้งสองฝ่ายให้เกิดบทบาทสูงยิ่งขึ้น โดยที่ฝ่ายไทยอาจจะได้เปรียบจากโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ขณะที่พม่านั่นคือการเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่รองรับสิ่งก่อสร้าง



ที่มา:http://www.thai-aec.com/402#more-402

ไม่มีความคิดเห็น: